พื้นที่ดำเนินโครงการ
ได้ดำเนินงานในพื้นที่ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นคนพื้นเมืองประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรม มีทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกา ส่วนใหญ่จะปลูกร่วมในพื้นที่ป่า ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดประมาณ 600 ไร่ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมได้แก่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,200 เมตร
การพัฒนาพื้นที่ปลูกกาแฟของตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ในชุมชนด้วยการส่งเสริมการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้และยกระดับการปลูกกาแฟสู่ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee Systems (PGS) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ และมุ่งเน้นกระบวนการผลิตเมล็ดและการแปรรูปกาแฟอะราบิกาในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดการฟาร์ม จนถึงการผลิตเมล็ดกาแฟเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการผลิตกาแฟคุณภาพ แก้ไขปัญหากระบวนการผลิต ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาเป็นสินค้าของชุมชนเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดกับตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดกับตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ทรัพยากร
ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เกษตรกรจะปลูกกาแฟกาแฟอะราบิกาในพื้นที่ป่าในลักษณะของการปลูกแซมต้นไม้ใหญ่ แต่ได้ผลผลิตต่อต้นที่มากกว่า ผลใหญ่กว่า รสชาติดีกว่า และมีคุณภาพมากกว่า ความพิเศษของกาแฟป่าคือ พื้นที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ ไม่ผ่านการใช้สารเคมีใดๆ และไม่นำสารเคมีไปใช้ ดินปลูกมีใบไม้ตามธรรมชาติทับถม เกิดอินทรียวัตถุที่ดีสำหรับพืชกาแฟ จึงเรียกได้ว่ากาแฟอินทรีย์รักษาป่า
กลุ่มเป้าหมาย
1. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าดอยผาหม่น เลขที่ 33 หมู่ที่ 15 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน เลขที่ 140 หมู่ที่ 9 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย