เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับเชิญร่วมสัมมนาหัวข้อ ” การเพิ่มศักยภาพกาแฟไทยในยุคการค้าเสรี”ณ ศูนย์การเรียนรู้กาแฟ เดอะคอฟฟี่เนอรี่ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมด้วยภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 130 ราย โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาระหว่างประเทศเป็นประธานในพิธี ปัจจุบันการบริโภคกาแฟของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ความต้องการบริโภคกาแฟอยู่ที่ 9.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 และปี 2561 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่เติบโตไปในทิศทางเดียวกับกาแฟโลก โดยในช่วงปี 2558 – 2562 ปริมาณความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.21 ต่อปี หรือเฉลี่ยที่ 78,953 ตันต่อปี ในขณะที่ไทยสามารถผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้เฉลี่ย 24,713 ตันต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงยังต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูปบริโภคในประเทศและส่งออก ที่ผ่านมาไทยนำเข้ากาแฟจากอาเซียน อาทิ เวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย โดยเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบที่ร้อยละ 5 และยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับเมล็ดกาแฟคั่ว นอกจากนี้ไทยและออสเตรเลียได้ยกเลิกการภาษีศุลกากรสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟระหว่างกันแล้วภายใต้ความตกลงไทย – ออสเตรเลีย โดยการยกเลิกภาษีของไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ขณะที่ออสเตรเลียยกเลิกภาษีให้ไทยแล้วตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ในปี 2548 จึงอาจมีผู้สนใจนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่วจากออสเตรเลีย ซึ่งกรมฯ จะใช้โอกาสนี้หารือผู้เกี่ยวข้องติดตามประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ปัจจุบันการผลิตเมล็ดกาแฟดิบของไทย ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ แต่หากเป็นการผลิตกาแฟสำเร็จรูปพบว่า ในช่วงปี 2559 – 2562 ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปเฉลี่ย 29,876 ตันต่อปีเป็นมูลค่า 3,560 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ลาว เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งหากเทียบอันดับการส่งออกสู่ตลาดโลกแล้ว
พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของโลก โดยในปี 2561 ส่งออกไปทั่วโลก 28,473 ตัน ติดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก